ความดันสูง

โรคความดันโลหิตสูง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม เสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ แนะแนวทางการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงช่วยห่างไกลภาวะหัวใจล้มเหลวนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90  มิลลิเมตร/ปรอท เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนไทย ซึ่งผู้ป่วยหากเป็นนานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สมองเสื่อม หลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งและตีบ ไตวายทั้งชนิดฉียบพลันหรือเรื้อรัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นร่วมกับโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่จะยิ่งทำให้หลอดเลือดตีบเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ หัวใจขาดเลือดจนอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด

แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะมีอาการปวดบริเวณท้ายทอย มักจะมีอาการในตอนเช้า อาจมีอาการเวียนหัว ปวดหัว มึนงง แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่ายผิดปกติ บางรายตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งโรคนี้มักพบได้มากในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง บางรายอาจเกิดจากพันธุกรรม นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม(มีปริมาณเกลือโซเดียมมากกว่า 2,400 milligram/วัน) การมีภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า สูบบุหรี่ อ้วน ลงพุง น้ำหนักตัวเกิน ขาดการออกกำลังกาย นอนกรน มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับแนวทางการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ลดปริมาณเกลือในอาหาร งดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิด อย่าเครียด ควบคุมน้ำหนัก และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ จะส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถฟื้นฟูจากโรคที่เป็นอยู่ได้ และห่างไกลจากการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

ขอขอบคุณข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : sciencenordic.com
เรียบเรียง : ถั่งเช่า ม.เกษตร (คอร์ดี้ไทย)

ความดันโลหิตสูง อันตราย! เสี่ยงภาวะ “หัวใจล้มเหลว”